โรคหนองในเทียม สาเหตุ อาการ รักษา

โรคหนองในเทียม เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย ซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โรคนี้สามารถแพร่เชื้อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ การรู้เกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และวิธีรักษาของโรคหนองในเทียม เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณสามารถป้องกัน และรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โรคหนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis) คืออะไร?

เกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีลักษณะอาการคล้ายกับโรคหนองในแท้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมูกใส หรือหนองที่บริเวณอวัยวะเพศ โรคหนองในเทียมมักจะไม่ปรากฏอาการให้เห็นอย่างชัดเจน แต่มักจะก่อให้เกิดการทำลายระบบอวัยวะสืบพันธุ์

สาเหตุโรคหนองในเทียม

สาเหตุโรคหนองในเทียม

โรคหนองในเทียม เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามัยเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน หรือโดยไม่สวมถุงยางอนามัยในขณะมีเพศสัมพันธ์ กับผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้หลายทาง เช่น ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก ทางปาก หรือแม้กระทั่งทางตา หากมีสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ติดเชื้อกระเด็นใส่ รวมไปถึงการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกในขณะตั้งครรภ์ โดยระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) : ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น โดยเพศชายมักจะพบประมาณ 1- 3 วัน และเพศหญิงที่ติดเชื้อ มักไม่แสดงอาการมาก เหมือนเพศชาย พบประมาณ 10 วัน

อาการโรคหนองในเทียม

จะแสดงอาการแตกต่างกันออกไปตามเพศ โดยมีลักษณะดังนี้

อาการในเพศชาย

  • มีไข้ ไอ และรู้สึกเจ็บคอคอแห้ง 
  • ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว
  • มีมูกใส หรือขุ่นไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ ซึ่งไม่ใช่ปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ
  • รอบๆ รูท่อปัสสาวะดูบวมแดง 
  • มีอาการระคายเคือง และคันบริเวณท่อปัสสาวะ
  • มีอาการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
  • รู้สึกเจ็บ หรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
  • รู้สึกปวด หรือมีการบวมที่ลูกอัณฑะ
  • มีหนองที่บริเวณทวารหนัก มีเลือดไหล
อาการโรคหนองในเทียม

อาการในเพศหญิง

  • มีไข้ ไอ และรู้สึกเจ็บคอคอแห้ง 
  • ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว
  • มีตกขาวมากกว่าปกติ ตกขาวเป็นมูกปนหนอง มีกลิ่นเหม็น
  • ประจำเดือนผิดปกติ
  • รู้สึกเจ็บ หรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ 
  • รู้สึกคัน หรือแสบร้อนบริเวณรอบอวัยวะเพศ
  • รู้สึกเจ็บท้องน้อย หรือเจ็บที่กระดูกเชิงกราน เวลามีประจำเดือน หรือขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์  หรือบางรายมีเลือดออกช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
  •  มีหนองที่บริเวณทวารหนัก มีเลือดไหล 

การรักษาโรคหนองในเทียม

รักษาให้หายได้โดยการทานยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) 1 กรัม ทานเพียงครั้งเดียว หรือ ยาดอกซี่ไซคลีน (Doxycycline) 100 มิลลิกรัม ทานวันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 7 วัน (ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง ควรเป็นการสั่งยาโดยแพทย์ เพื่อป้องกันการใช้ชนิดยาไม่ตรงกับโรค/หลักการใช้ยาปฏิชีวนะ) ควรงดเพศสัมพันธ์ตั้งแต่สงสัยว่าติดโรคจนกระทั่งครบ 7 วันหลังจากที่รับประทานยาเม็ดสุดท้าย และคู่นอนควรต้องได้รับการตรวจรักษาที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน  นอกจากนี้เมื่อหายแล้ว ยังควรกลับไปตรวจซ้ำตามแพทย์นัด จนกว่าจะแน่ใจว่าหายสนิทในทุกตำแหน่งที่มีเพศสัมพันธ์

การป้องกันโรคหนองในเทียม

การป้องกันโรคหนองในเทียม

  • ใช้ถุงยางอนามัยให้ถูกวิธีทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ทั้งทางอวัยวะเพศ หรือทางทวารหนัก สามารถช่วยป้องกันหนองในเทียม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ถึง 99%
  • ใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชายหรือถุงครอบปาก (dental dam) ซึ่งมีลักษณะเป็นยางบางๆรูปสี่เหลี่ยมสำหรับผู้หญิงเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
  • มีคู่นอนเพียงคนเดียว การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นหนองในเทียม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างภายในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิง เพราะจะเป็นการลดจำนวนแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อช่องคลอด และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • เมื่อเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จะต้องรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ป้องกันไม่ให้เกิดอาการร้ายแรง และควบคุมไม่ให้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่น 
  • ตรวจสุขภาพ และตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โรคเริม น่ากลัวนะ ถ้าไม่ระวัง!

HIV ติดแล้ว ไม่เท่ากับตาย

การรับรู้ และป้องกันโรคหนองในเทียมเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และสามารถรักษาโรคให้หายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการของโรคหนองในเทียมควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมโดยไม่ละเลย

Similar Posts