โรคซิฟิลิส โรคร้ายอันตรายกว่าที่คิด

ในปัจจุบัน โรคซิฟิลิสมีการระบาดอย่างแพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่นช่วงมัธยมและมหาวิทยาลัยอย่างมากที่สุด ซึ่งมีอายุระหว่าง 15-24 ปี เหตุผลหนึ่งเกิดจากการเจริญพันธุ์ในช่วงวัยรุ่น ที่มีเพศสัมพันธ์อย่างรวดเร็ว และยังขาดความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษาอีกด้วย โดยวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือการมีเพศสัมพันธ์แบบคืนเดียว (One night stand) มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เพิ่มโอกาสในการติดเชื้อโรคซิฟิลิสอย่างมากขึ้น หรือบางคนมักจะไม่ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากคิดว่าตนไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงเนื่องจากไม่ได้เปลี่ยนคู่นอนบ่อย แต่ในความเป็นจริง การมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบโดยไม่สวมถุงยางอนามัย ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมด นอกจากกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวแล้ว เชื้อซิฟิลิสยังสามารถติดต่อจากแม่ที่ติดเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาสู่ทารกในครรภ์ ผ่านทางรกอีกด้วย ส่งผลให้ทารกเกิดมามีความผิดปกติ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ ตาบอด สมองเล็ก หรือแม้กระทั่งเสี่ยงเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว

โรคซิฟิลิส (Syphilis) คืออะไร?

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย  ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดผื่นหรือแผลตามผิวหนัง และ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงขึ้นหากไม่รักษา โดยทั่วไปโรคซิฟิลิสจะเริ่มจากบาดแผล ซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะของแผลจะเป็นแผลที่ไม่รู้สึกเจ็บ (Painless sore) หรือเรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) การแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นสามารถเกิดได้ผ่านทางการสัมผัสบาดแผลนี้กับผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ

สาเหตุของโรคซิฟิลิส

สาเหตุของโรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema Pallidum) มักจะแสดงอาการภายใน 10 – 90 วัน หลังจากที่ได้รับเชื้อ จากการสัมผัสถูกเชื้อโดยตรงจากแผลของผู้ป่วย และระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ที่มักสุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อได้มากที่สุด จึงมักถูกจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้การใช้เข็มฉีดยารวมกับผู้อื่น การรับเลือดจากผู้อื่น รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อสามารถส่งผ่านเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้เช่นกัน

ในช่วงระยะที่ 1-2 ของการติดเชื้อจะสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ง่ายมากที่สุด อย่างไรก็ตามการใช้สิ่งของร่วมกันในบางกรณีที่ไม่ได้สัมผัสกับเชื้อโดยตรงอาจไม่เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ เช่น การใช้ห้องน้ำ การสวมเสื้อผ้า หรือใช้ช้อนส้อมร่วมกัน รับประทานอาหารจากภาชนะเดียวกัน หรือแม้แต่จากลูกบิดประตู สระว่ายน้ำ อ่างอาบน้ำ หรือการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ นอกจากนี้ มีการติดเชื้อบางกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก สามารถเกิดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับบริเวณที่มีการติดเชื้ออยู่ขณะนั้น เช่น ผ่านทางการจูบ เป็นต้น

อาการของโรคซิฟิลิส

อาการของโรคซิฟิลิส

แบ่งอาการออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 (Early/Primary Syphilis) มักจะแสดงอาการเริ่มต้นจากการเกิดแผลขนาดเล็กบริเวณที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายประมาณ 3 สัปดาห์ โดยปลายขอบแผลมีลักษณะเรียบและแข็งที่เรียกว่า แผลริมแข็ง (Chancre) สำหรับผู้ชายแผลริมแข็งมักจะเกิดในบริเวณปลาย หรือลำอวัยวะเพศ ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่ทันสังเกต หรือไม่รู้ตัวว่ามีแผลเกิดขึ้น เนื่องจากแผลนี้จะไม่มีอาการปวด และแผลอาจซ่อนอยู่ภายในช่องคลอด หรือทวารหนัก จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อซิฟิลิสได้ แผลริมแข็งนี้โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงตำแหน่งเดียว แต่ก็มีบางส่วนที่มีแผลหลายตำแหน่ง โดยแผลริมแข็งจะสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาประมาณ 10-90 วัน มักไม่มีอาการเจ็บปวดและจะค่อย ๆ หายไปได้เองภายใน 6 สัปดาห์แม้ไม่ได้รับการรักษา
  • ระยะที่ 2 (Secondary Stage) โรคจะเริ่มพัฒนาจากระยะแรกใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดผื่นที่มีลักษณะตุ่มนูนคล้ายหูดขึ้นตามบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า อวัยวะเพศ หรือส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขาหนีบ ทวารหนัก ภายในช่องปาก แต่ไม่มีอาการคันตามผิวหนัง บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ มีปื้นแผ่นสีขาวในปาก เป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองบวม เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ผมร่วง หรืออาการอื่น ๆ แต่อาการเหล่านี้มักจะหายไปแม้ไม่ได้รับการรักษาเช่นกัน
  • ระยะสงบ หรือระยะแฝง หรือ Latent Syphilis เป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีอาการของโรคแสดงออกมาให้เห็น แต่ผู้ป่วยยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกายและตรวจเลือดพบได้ ระยะนี้สามารถเกิดได้นานเป็นปีก่อนจะพัฒนาไปยังระยะสุดท้าย
  • ระยะที่ 3 (Tertiary Syphilis) หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้โรคพัฒนามาจนถึงระยะสุดท้ายที่ก่อให้เกิดความผิดปกติและภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ สมอง ระบบประสาท หรืออวัยวะหลายส่วนของร่างกายเมื่อเชื้อไปอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งจะนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น อัมพาต ตาบอด ภาวะสมองเสื่อม หูหนวก ไร้สมรรถภาพทางเพศ โรคหัวใจ เสียสติ และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
การรักษาโรคซิฟิลิส

การรักษาโรคซิฟิลิส

สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เป็นหลัก แม้ว่าอาการของโรคในระยะแรกมักเกิดขึ้นแล้วหายไป และอาการในระยะท้ายมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องก่อนโรคมีการพัฒนามากขึ้นจนรุนแรงต่อระบบอื่นในร่างกาย ซึ่งแพทย์จะฉีดยาให้ผู้ป่วยโดยดูจากระยะเวลาในการป่วยว่าเป็นมานานเท่าใด

  • ผู้ป่วยระยะที่ 1–2 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วย 1 ครั้ง  
  • ผู้ป่วยระยะแฝงหรือระยะที่ 3 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1 ครั้งติดต่อกัน 3 สัปดาห์
  • หากโรคซิฟิลิสขึ้นไปที่สมอง (Neurosyphilis) แพทย์จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี เข้ากล้ามเนื้อ ทุก 4 ชั่วโมง ติดต่อกันนาน 10–14 วัน
  • ฉีดโปรเคน เพนิซิลลิน (Procaine Penicillin) เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยวันละ 1 ครั้ง ร่วมกับรับประทานยาโพรเบเนซิด (Probenecid) วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลานาน 10–14 วัน
  • ในกรณีที่แพ้ยาเพนิซิลลินและยังไม่มีตัวยาชนิดที่ใช้ทดแทนกันได้ ก็จะใช้การฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 1–2 กรัมเข้ากล้ามเนื้อเป็นเวลา 10–14 วัน แทน หรือจะให้ยาชนิดอื่นรับประทาน เช่น ยาอีริโทรมัยซิน (Erythromycin) ยาด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) ร่วมกับยาเตตราไซคลีน (Tetracycline)
  • ตรวจเลือด หลังจากรักษาแล้ว 6 เดือน และต้องตรวจเลือดซ้ำเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามการรักษา 

การรักษาโรคซิฟิลิส แพทย์ทำการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลินในขนาดสูง โดยผู้ป่วยต้องไปฉีดยาตามนัดทุกครั้ง การขาดยาจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถรักษาโรคจนหายขาด

การป้องกันโรคซิฟิลิส

การป้องกันโรคซิฟิลิส

  • งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์
  • มีเพศสัมพันธ์เฉพาะสามี-ภรรยา / คู่นอนของตนเองคนเดียวเท่านั้น
  • ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ (การใช้ถุงยางอนามัยสามารถลดการติดเชื้อซิฟิลิสได้ แต่ตัวถุงยางอนามัยต้องครอบคลุมบริเวณแผลด้วย)
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลซิฟิลิส คู่นอนอาจมีแผลที่ปาก ลิ้น อวัยวะเพศ ดังนั้นอาจติดเชื้อได้จากการ จูบ หรือทำ Oral sex
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้
  • งดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • หญิงมีครรภ์ควรได้รับการตรวจเลือดคัดกรองโรคในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 8-12 ของการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อไปยังทารก
  • ไปพบแพทย์เสมอเมื่อมีอาการผิดปกติ อย่ารักษาด้วยตนเอง  หรือไปพบแพทย์เมื่อมีความกังวลหรือสงสัยว่าตนเองติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์รวมถึงซิฟิลิส
  • การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างน้อยปีละครั้ง 

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เพศศึกษา ในกลุ่ม LGBTQ+

เป็นหนองในแท้ ไม่รักษา ปล่อยหายเองได้ไหม

การเข้าใจเรื่องการป้องกันและการรักษาโรคซิฟิลิสเป็นสิ่งสำคัญ โดยการใช้ถุงยางอนามัยในทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และการเสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษา เป็นวิธีการสำคัญในการป้องกันโรคนี้ในกลุ่มวัยรุ่น ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว ควรให้ความสำคัญกับการเผชิญหน้ากับปัญหานี้อย่างจริงจังและมีการแพร่หลายข้อมูลเชิงปฏิบัติในสังคมอย่างกว้างขวาง

Similar Posts