แค่มีเพศสัมพันธ์ ก็เสี่ยงเป็นมะเร็งได้ จากไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบี  เมื่อเข้าสู่ร่างกาย โดยที่เราไม่รู้ตัว และไม่มีอาการใด ๆ  และเมื่อมีเพศสัมพันธ์ อาจแฝงมาด้วยเชื้อโรคร้ายที่ทำลายตับ อย่างไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางเลือด และสารคัดหลั่งอื่น รวมถึงการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก เพราะหากได้รับเชื้อแล้วจะทำให้เกิดตับอักเสบ และเชื้อนั้นพร้อมที่จะพัฒนาเป็นมะเร็งได้ในที่สุด

โรคไวรัสตับอักเสบบี

โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)

คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี  (Hepatitis B virus หรือ HBV) ซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบของเซลล์ตับ และทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย  จนเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และอาจกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด โดยผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนใหญ่ 90% มีประวัติเป็นโรคไวรัสตับอักเสบมาก่อน

โดยสามารถติดต่อเชื้อ ได้ดังนี้

  • การติดต่อผ่านทางของเหลวที่ออกมาจากร่างกาย เช่น สารคัดหลั่ง เลือด น้ำเชื้อ น้ำเหลือง เป็นต้น ผ่านทางบาดแผล รอยแผล หรือผิวหนังถลอก
  • การมีเพศสัมพันธ์ กับคนที่มีเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัยป้องกัน
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
  • การใช้เข็มสักตามตัว หรือสีที่ใช้สักตามตัวร่วมกัน และการเจาะหู
  • การใช้แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บร่วมกัน
  • การติดต่อจากแม่ที่มีเชื้อสู่ทารกในครรภ์  (ถ้าแม่มีเชื้อลูกมีโอกาสได้รับเชื้อ 90%)

อาการโรคไวรัสตับอักเสบบี

ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ได้รับเชื้อจะไม่รู้ตัว หรือผู้ป่วยมักจะแสดงอาการออกมาหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณ 1-3 เดือน โดยผู้ป่วยจะมีอาการ ดังนี้

ระยะเฉียบพลัน 

  • อาการไข้ ตัวเหลืองตาเหลือง(ดีซ่าน) ปวดท้องใต้ชายโครงขวา แน่นท้อง ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสียและอาเจียน อ่อนเพลีย ผื่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • อาการตับอักเสบระยะเฉียบพลันจะดีขึ้นใน 1-4 สัปดาห์ และจะหายเป็นปกติเมื่อร่างกายสามารถกำจัด และควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ ซึ่งมักใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน แต่ผู้ป่วยส่วนน้อย (5-10%) ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้หมด ทำให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง หรือบางรายอาจมีอาการรุนแรง เกิดจากการที่เซลล์ตับถูกทำลายเป็นจำนวนมาก ในกรณีนี้อาจทำให้เกิดภาวะตับวายได้
อาการโรคไวรัสตับอักเสบบี

ระยะเรื้อรัง

ตับอักเสบเรื้อรัง เกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย บางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่เมื่อตรวจเลือดจะพบค่าการทำงานของตับสูงขึ้น แสดงถึงว่าตับมีการอักเสบเรื้อรัง และสามารถทำให้ตับแข็งได้ ในระยะนี้จึงจำเป็นต้องรักษา และการติดเชื้อแบบเรื้อรังพบบ่อยในเด็กที่ติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด

ระยะตับแข็ง และมะเร็งตับ 

เป็นระยะสุดท้ายของโรคตับ เกิดจากการอักเสบของตับเรื้อรัง จะมีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง ดีซ่าน ท้องมาน แขนขาบวม ตัวบวม

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี

ในปัจจุบันการรักษาไวรัสตับอักเสบบี เพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสบี ทำให้สามารถลดการอักเสบของตับ ชะลอ หรือยับยั้งการดำเนินโรคไปสู่การเป็นตับแข็ง หรือมะเร็งตับ นอกจากนี้การรักษายังสามารถลดภาวะผังผืดในตับทำให้ภาวะตับแข็งดีขึ้นได้ด้วย ซึ่งการรักษามี 2 วิธี ได้แก่

  • การกินยา เพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส และการแพร่กระจายของเชื้อ ถือเป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
  •  การฉีดยา (Interferon) หรือที่เรียกว่า ยาฉีดเพ็กไกเลดเตด อินเตอร์เฟียรอน (pegylated interferon) เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ป่วยห้ต่อสู้ควบคุมไวรัสตับอักเสบบีเป็นหลัก โดยการฉีดใต้ผิวหนังอาทิตย์ละครั้ง และฉีดต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี แต่อาจจะมีผลข้างเคียงจากยามากกว่ายาแบบรับประทาน
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี

  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ต้องมีการป้องกันทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือด และสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หากต้องสัมผัสสารที่หลั่งออกมาจากร่างกาย เช่น ควรใส่ถุงมือ
  • สิ่งของที่ไม่ควรใช้ร่วมกันกับผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี คือ มีดโกน ที่โกนหนวด กรรไกรตัดเล็บ เนื่องจากอาจปนเปื้อนเลือดได้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรค
  • ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรตรวจเช็คตับปีละ 1 ครั้ง และตรวจคัดกรองมะเร็งตับเป็นระยะ
  • ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในรายที่ยังไม่เป็นโรค หรือคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันโรค

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ควรรู้จัก

เปิดใจ คุยเรื่องเพศ กับคู่ของคุณอย่างไร

การมีเพศสัมพันธ์เป็นปัจจัยหนึ่งที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV) ซึ่งอาจส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับในอนาคต การรับวัคซีน และการดูแลสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกัน และควบคุมโรคนี้ ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี รวมในเข็มเดียวกัน โดยสามารถสอบถามรายละเอียดจากแพทย์หรือ โรงพยาบาลที่ต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีน เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวของคุณ และคนใกล้ชิดในการป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี

Similar Posts