โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นโรคที่ติดเชื้อ และแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งจากการร่วมเพศทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในหมู่วัยรุ่น ผู้ที่ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะไม่ค่อยแสดงอาการ และการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ทำให้เชื้อโรคติดต่อผ่านกันได้ง่าย ทำให้ในปัจจุบันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงเป็นโรคที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากการอยู่ร่วมกันก่อนแต่งในวัยรุ่น หนุ่มสาว ผู้ใหญ่วัยทำงานก็เช่นกัน
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คืออะไร?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือที่เรียกกันว่า STI (Sexually Transmitted Infection) หรือ STD ( Sexually Transmitted Diseases) คือ โรคทุกอย่างที่ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ในที่นี้การมีเพศสัมพันธ์ หมายถึง การจูบ, การสัมผัส หรือถูอวัยวะเพศ, การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก (การใช้ปากกับอวัยวะเพศ), การร่วมเพศ (องคชาตในช่องคลอด องคชาตในทวารหนัก), การใช้เซ็กซ์ทอย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีโอกาสติดต่อได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง และถ้าหากติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์ บางครั้งอาจส่งผลกระทบถึงเด็กทารกในครรภ์โดยเป็นการติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ด้วย
สาเหตุโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งบางชนิดรักษาหาย บางชนิดไม่มียารักษา บางชนิดจะแฝงตัวและเป็นซ้ำได้อีก เช่น โรคเอดส์ โรคเริม โรคหูดหงอนไก่ โรคหูดข้าวสุก และไวรัสตับอักเสบบี
- โรคเอดส์ เกิดจากการติดเชื้อ HIV ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เชื้อจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรคทำให้ติดเชื้อโรคอื่นๆ ได้ง่าย และทำให้ถึงแก่ชีวิต
- โรคเริม เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Herpes Simplex Virus สามารถพบได้ในหลายตำแหน่ง เช่น ที่ริมฝีปาก หรือบริเวณอวัยวะเพศ เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่เป็นโรคเชื้อไวรัสแล้วเข้าสู่ผิวหนัง
- โรคหูดหงอนไก่ เกิดจากเชื้อที่เรียกว่า Human Papilloma Virus หรือ HPV ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัส อาการที่พบคือมีติ่งเนื้อนูนคล้ายดอกกะหล่ำ อาจมีอาการคัน และเจ็บหรือมีเลือดออก ทั้งนี้มีโอกาสเป็นซ้ำได้บ่อย
- โรคหูดข้าวสุก เกิดจากเชื้อไวรัส Molluscum Contagiosum Virus (MCV) โดยอาการที่พบ คือ มีผิวเรียบ แต่ละตุ่มมีรูตรงกลาง ซึ่งเมื่อสุกดีจะบีบของเหลวข้นๆ ออกจากรูได้คล้ายข้าวสุก ในบางรายติ่งเนื้อ หรือตุ่มมีขนาดเล็ก
- ไวรัสตับอักเสบบี เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Hepatitis B Virus การติดต่อผ่านทางของเหลวที่ออกมาจากร่างกาย เช่น สารคัดหลั่ง เลือด น้ำเชื้อ น้ำเหลือง เป็นต้น มีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรืออ่อนแรงและปวดตามข้อ ตาเหลือง และตัวเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม เป็นต้น
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รักษาหายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคแผลริมอ่อน และโรคฝีมะม่วง
- โรคซิฟิลิส เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์และจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ ซึ่งเชื้ออาศัยอยู่ได้ในทุกส่วนของร่างกาย ผู้ติดเชื้อจะอาการแตกต่างกันตามระยะของโรค เช่น มีแผลที่อวัยวะเพศ มีผื่นขึ้นตามตัว มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือไม่มีอาการใด ๆ
- โรคหนองในแท้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae อาการหนองในระหว่างผู้หญิงและผู้ชายจะต่างกันออกไป โดยในผู้ชายจะมีปัสสาวะแสบขัดมีหนองไหลจากท่อปัสสาวะ สำหรับในผู้หญิงมักไม่มีอาการหรือมีเพียงตกขาวผิดปกติ ไม่คัน แต่สิ่งทีเหมือนกันอย่างแรกคือเชื้อจะเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้บางรายอาจไม่ได้มีอาการอะไรเล
- โรคหนองในเทียม เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia Trachomatis อาการของหนองในเทียม ในช่วงแรกอาจจะยังไม่แสดงอาการให้พบเห็น หลังได้รับเชื้อแล้วในระยะเวลา 1-3 สัปดาห์ อาการมีอาการแสบร้อน รู้สึกเจ็บ ปัสสาวะแสบขัด ขณะปัสสาวะ มีของเหลวขาวหรือลักษณะหนองไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ หรือมีตกขาวมากกว่าปกติ ตกขาวเป็นมูกปนหนอง มีกลิ่นเหม็น
- โรคแผลริมอ่อน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus Ducreyi จะทำให้เนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณอวัยวะเพศ มีอาการเปื่อย
- โรคฝีมะม่วง จากการติดเชื้อแบคทีเรียคลามีเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) ที่แตกต่างกันถึง 3 ชนิด คือ ชนิด L1, L2, L3 และไม่ใช่เชื้อแบคทีเรียและไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย ชนิดที่ทำให้เกิดโรคหนองในเทียม เป็นการติดเชื้อของระบบน้ำเหลืองในร่างกาย สามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางปาก ทวารหนัก และช่องคลอด หรือสัมผัสถูกหนองของฝีมะม่วงโดยตรง ทำให้เกิดแผลขนาดเล็ก
เกิดจากเชื้ออื่นๆ
- เชื้อรา เช่น เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis) เ
- เชื้อปรสิต เช่น โลน (Pediculosis Pubis หรือ Pubic Lice) หิด (Scabies) และพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis หรือเรียกสั้นๆ ว่า Trich) เป็นต้น
อาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรค ซึ่งอาการต่างๆ อาจเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศอย่างเดียว หรืออวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ทั้งหมด โดยเราสามารถสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้
- มีตกขาวผิดปกติ หรือตกขาวเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ
- ตกขาวมีกลิ่น มีอาการคัน หรือระคายเคือง
- มีตุ่ม มีผื่น หรือแผล บริเวณอวัยวะเพศ หรือบริเวณทวารหนัก
- อาจมีน้ำเหลืองหรือน้ำหนอง ไหลออกมาจากปลายอวัยวะเพศชาย
- อวัยวะเพศหญิงมีเลือดไหลผิดปกติ
- เจ็บหรือแสบขัดเวลาปัสสาวะ
- มีอาการเจ็บแสบ หรือเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- ขาหนีบบวม
- ปวดท้องน้อย หรือเจ็บเสียวท้องน้อย
- มีไข้ ไม่สบาย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- มีอาการระคายเคืองที่อวัยวะเพศ หรือเจ็บปวดอวัยวะเพศ
- เชื้อบางชนิด อาจไม่แสดงอาการในระยะแรก หรือบางระยะโรค เช่น หูดหงอนไก่ชนิดที่ก่อมะเร็งปากมกลูก (High risk group HPV),เริม,เอดส์,ซิฟิลิสบางระยะ เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัยโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
สามารถทำได้หลายวิธี แพทย์จะเลือกการตรวจที่เหมาะสมที่สุดจากการซักประวัติ ซึ่งวิธีตรวจหลักๆ จะมีดังนี้
- ตรวจเลือด(blood test) หรือปัสสาวะ (urine test) เป็นการตรวจที่นิยิมที่สุด เพราะสามารถตรวจได้หลายโรค เช่น เชื้อเอชไอวี เริม หนองใน ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบ
- ตรวจภายใน (Pap smears) ปกติแล้วการตรวจด้วยวิธีแปป สเมียร์ เป็นการตรวจเพื่อสังเกตอาการเริ่มต้นของมะเร็งปากมดลูก แต่มะเร็งปากมดลูกก็อาจเกิดจากการติดเชื้อ HPV เมื่อมีเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน
- ตรวจสารคัดหลั่ง (Swab test)ในบางกรณีแพทย์อาจใช้การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศ ปากมดลูก ทางเดินปัสสาวะ หรือทวารหนัก เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อได้
- ตรวจร่างกาย ในกรณีที่อาการเริ่มแสดงออกมาให้เห็นแล้ว การตรวจร่างกายก็สามารถใช้ประกอบการวินิจฉัยได้ เช่น เริม หูด ซิฟิลิส เป็นต้น
การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหาย และแนะนำให้คู่นอนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เข้ารับการตรวจรักษาด้วย ซึ่งการรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาให้หายได้ง่ายกว่า ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสทำได้โดยดูแลอาการไม่ให้กำเริบได้ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด โดยวิธีการรักษามีดังนี้
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ใช้รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิต ได้แก่ หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส และเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะต้องได้รับการรักษาจนครบกำหนด นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ
- ยาต้านไวรัส (Antivirus) ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเริม โดยควรรับยาต้านไวรัสร่วมกับการดูแลสุขภาพ แต่เชื้อจะยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย เมื่อไหร่ที่ร่างกายอ่อนแอ อาจจะกลับมาแสดงอาการอีกครั้ง และผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้แม้จะมีโอกาสเสี่ยงต่ำก็ตาม ทั้งนี้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง จะช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสให้น้อยลงจนตรวจหาแทบไม่พบ นอกจากนี้ ยาต้านไวรัสยังใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี
การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- สวมถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี และทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ใช้แผ่นยางทันตกรรม (แผ่นยางบาง ๆ ที่ใช้เป็นตัวกั้น) สำหรับการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก
- การมีคู่นอนคนเดียว ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ไม่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เสี่ยงโรค
- รักษาความสะอาดร่างกายและอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจโรคเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะคู่ที่กำลังจะแต่งงาน
- การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สำหรับคนที่มีอายุ 9-45 ปี
- ห้ามร่วมเพศ หากมีประจำเดือน เพราะจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการติดโรคมากขึ้น
- ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย
- ศึกษาเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ปรึกษาแพทย์ เมื่อมีอาการผิดปกติ หรือสงสัยว่าติดต่อโรค
อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เอชไอวี ไวรัสตัวร้ายที่ยังรักษาไม่หายขาด
โรคเริม น่ากลัวนะ ถ้าไม่ระวัง!
การเข้าใจและรับรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค หรือเพื่อช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อโรค รวมทั้งสามารถตรวจพบเชื้อโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือระยะเริ่มต้น จะช่วยให้สามารถรักษาโรคได้ทันท่วงที หรือลดอาการรุนแรงของโรครวมทั้งการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจส่งผลระยะยาว หรืออันตรายถึงแก่ชีวิตได้