ไวรัสตัวร้าย..ที่ยังรักษาไม่หายขาด

เอชไอวี ไวรัสตัวร้ายที่ยังรักษาไม่หายขาด

เอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus : HIV) หนึ่งในโรคที่ในปัจจุบันยังไม่สามารถค้นพบวิธีการรักษาให้หายขาดได้ โดยสาเหตุของการติดต่อส่วนใหญ่มาจาก การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น การติดต่อจากแม่สู่ลูกในผู้หญิงตั้งครรภ์ ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับเชื้อ มีภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง จนร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี คือ โรคเอดส์

เอชไอวีติดต่อกันได้อย่างไร ?

  • การมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ได้ป้องกัน
  • ทางเลือด
  • จากแม่สู่ทารกในครรภ์
อาการของเอชไอวีเป็นอย่างไร

อาการของเอชไอวีเป็นอย่างไร ?

เอชไอวี สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ

Beefhunt

ระยะเฉียบพลัน

ระยะเฉียบพลัน คือ ระยะเริ่มต้นของผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น อาการเจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว ต่อมน้ำเหลืองโต และมีผื่นขึ้นตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากร่างกายตอบโต้ต่อเชื้อเอชไอวี มักเกิดขึ้นได้ในระหว่าง 2-4 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวและป้องกันการลุกลามสู่ระยะถัดไป ควรเข้ารับการตรวจเอชไอวีโดยเร็วที่สุด

ระยะสงบทางคลินิก

ระยะสงบทางคลินิก คือ ระยะที่เชื้อเอชไอวีในร่างกายจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน หรือ มีอาการให้เห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จากสถิติแล้วมักใช้ระยะเวลานานกว่า 10 ปี ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อแต่ละราย ถือว่าเป็นระยะที่ไม่สามารถสังเกตอาการได้ จึงแนะนำว่าหากคาดว่าผ่านความเสี่ยงมาไม่นานควรตรวจเอชไอวีจะดีที่สุด หรือตรวจเอชไอวีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ระยะเอดส์ (ระยะสุดท้าย)

ระยะเอดส์ คือ ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี เป็นระยะที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกทำลายอย่างรุนแรง ส่งผลต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสได้ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด โดยอาการของโรคเอดส์มีข้อสังเกตได้ดังต่อไปนี้

  • มีอาการไข้เรื้อรัง
  • ท้องเสียเรื้อรังนานกว่าปกติ
  • มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง เปลือกตา และจมูก
  • มีแผลที่อวัยวะเพศ ริมฝีปาก และทวารหนัก
  • มีอาการทางระบบประสาท สูญเสียความทรงจำ
  • บริเวณ คอ รักแร้ และขาหนีบ มีอาการบวมที่ต่อมน้ำเหลือง

การวินิจฉัยเอชไอวี

การวินิฉัยเอชไอวีที่ดีที่สุด คือ การตรวจเลือดเพราะเป็นวิธีที่เชื่อถือได้มากที่สุด โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่สงสัยว่าอาจได้รับเชื้อหรือมีความเสี่ยง ตรวจหาเชื้อเอชไอวี เมื่อได้ตัวอย่างเลือดมาแล้ว แพทย์อาจนำไปตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่

  • การตรวจแบบ Anti-HIV
  • การตรวจแบบ Rapid HIV Test
  • การตรวจแบบ HIV p24 antigen testing
  • การตรวจแบบ NAT (Nucleic Acid Testing)

ใครบ้างที่ควรตรวจเอชไอวี

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
  • ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้อื่น
  • ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ผู้ที่วางแผนมีครอบครัว
  • ผู้ป่วยวัณโรค
  • ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงจากการปฏิบัติหน้าที่

พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ทำให้ติดเอชไอวี

  • การไอ หรือจาม
  • การกอด การสัมผัส
  • การรับประทานอาหาร่วมกัน
  • การใช้สระว่ายน้ำ หรือห้องน้ำร่วมกัน

ปฏิบัติตัวอย่างไรหากทราบผลว่าติดเชื้อเอชไอวี ?

  • กินยาให้ตรงตามเวลาอย่างเคร่งครัด
  • ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ งดเสพสารเสพติดทุกชนิด
  • ดูแลตนเองให้มีสุขภาพจิตที่ดีเพื่อให้จิตใจสดใส มีกำลังในการรักษาอย่างต่อเนื่อง
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเอชไอวีไปสู่ผู้อื่น
  • ให้คู่นอนเข้ารับการตรวจเอชไอวีทันทีหากทราบผลว่าคุณติดเชื้อ
  • ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากการติดเชื้อต่าง ๆ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ง่าย
การรักษา เอชไอวีในปัจจุบัน

การรักษาเอชไอวีในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน ยังไม่มียาหรือวิธีการรักษาใด ที่ช่วยทำให้หายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งแนวทางการรักษาในปัจจุบัน เป็นการรักษาด้วยการใช้ ยาต้านไวรัส โดยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกแล้วว่าเป็นการรักษาที่ให้ผลลัพธ์ที่ดี ต่อผู้ติดเชื้อมากที่สุด ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่เข้ารับการรักษาจะต้องปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งกินยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสที่เชื้อไวรัสจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นในร่างกาย และห่างไกลจากการติดเชื้อฉวยโอกาสต่าง ๆ

แนวทางป้องกันเอชไอวี

แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีการรักษาเอชไอวีให้หายขาดได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือ การป้องกัน และระมัดระวัง ในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ โดยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น และหากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีเชื้อเอชไอวี ต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อรับยาหรือรักษาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

Similar Posts