พื้นที่ปลอดภัย กลายมาเป็นอีกหนึ่งคำที่ติดเทรนด์ความสนใจของผู้คนในยุค 2022 อีกครั้งโดยเฉพาะในแวดวงของประชากรโลก ในต่างประเทศหลายประเทศให้ความสำคัญกับ ‘เซฟโซน’ ในระดับที่มีการจัดตั้งหลักวิชาการเรียนการสอนว่าด้วยเรื่อง “การสร้างพื้นที่ปลอดภัย” ให้กับทั้งตนเองและสังคม สำหรับคำว่าพื้นที่ปลอดภัยนั้นในไทยเองก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน จากการที่อินฟลูเร้นเซอร์เพศทางเลือกแบบเขื่อน ภัทรดนัย ได้ออกมาทำกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคน โดยตัวหมวยเขื่อนเองก็ได้นำประสบการณ์ของตัวเองออกมาขยายและเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงให้กับเพศทางเลือกในไทยจากสิ่งที่ตัวเองประสบมาทั้งชีวิตจริงและในโลกออนไลน์
พื้นที่ปลอดภัย คืออะไร?
เราสามารถนิยามได้ว่าพื้นที่ปลอดภัย คือ พื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยจากสายตาคนภายนอก พื้นที่ที่ปราศจากการกล่าวโทษต่อว่าตัวเอง และเป็นพื้นที่ ๆ เราสามารถรับฟังตัวเองและเป็นตัวเองได้โดยปราศจากการตัดสินจากคนอื่น
พื้นที่ปลอดภัย สำคัญอย่างไรกับเพศทางเลือก?
“การเปิดเผยตัวเองมันต้องแลกบางอย่างในชีวิตเขา ถ้าเขาเปิดเผยตัวเองว่าเป็น LGBT ต้องพบกับแรงต้าน คนไม่สนับสนุน หรือคนที่ไม่ชอบอัตลักษณ์ทางเพศแบบนี้ มันมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบเพราะเป็นกะเทยหรือเป็นเกย์ ก็มีผลต่อสภาพ บางที่ก็มีผลต่อการประเมิน ขั้นเงินเดือน ประเมินตำแหน่งหน้าที่การงาน” ครูเคท คทาวุธ ครั้งพิบูลย์ ให้สัมภาษณ์ผ่าน the matter (https://thematter.co/social/lgbt-inequality-with-krukath/48901)
อ้างอิงจากโควทดังกล่าวจะพบว่าสังคมไทยให้การยอมรับ LGBT อย่างมีเงื่อนไข เพราะพวกเขาขาดความเข้าใจทั้งอัตลักษณ์ทางเพศ ที่หมายถึงการรับรู้ว่าตนเองต้องการเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง หรือต้องให้เพศสภาพภายนอกของตัวเองข้ามไปเป็นอีกเพศก็สามารถเป็นไปได้ และไม่เข้าใจเพศวิถี ที่หมายถึงรสนิยมความชอบ ความพึ่งพอใจทางเพศที่มีต่อบุคคลอื่น
โดยที่ทั้งอัตลักษณ์ทางเพศสามารถสอดคล้องกับเพศวิถีหรือแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงก็เป็นไปได้ เช่น เกิดมาเป็นผู้ชายทางเพศสภาพ แต่มีความรู้สึกสนใจเพศเดียวกัน หรือ เกิดมาเป็นผู้ชายตามเพศสภาพ แต่ต้องการเปลี่ยนไปเป็นเพศสภาพแบบผู้หญิง โดยที่ยังมีความสนใจเพศตรงข้าม ทั้งหมดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ ซ้ำร้ายไปมากกว่านั้น บางครั้งความไม่เข้าใจอาจจะประกอบขึ้นจากคนในครอบครัวของเราเอง ทำให้พื้นที่ปลอดภัยในสังคมไทยของเพศทางเลือกเองก็ดูจะน้อยลงเรื่อย ๆ โดยสังเกตได้จากข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับ LGBTQNA+ ที่ถูกกระทำจากครอบครัวของพวกเขา เพราะพ่อแม่หลายคนคาดหวังว่าลูกจะต้องเป็น Mini me ของตัวเอง จนสุดท้ายแล้วก็กลายเป็นการทำร้ายกันทั้งหมดทั้งทางตรงและทางอ้อม
เมื่อสังคมและครอบครัวไม่เข้าใจสิ่งที่เพศทางเลือกเลือกที่จะเป็น ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนจะสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับตัวเองได้ เราสามารถสบายใจได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องประกอบสร้างความรู้สึกปลอดภัยจากใคร เพราะตัวเราเองเป็นเซฟโซนให้กับตัวเองได้ หากจะให้สรุปแล้ว โดยเนื้อแท้ของพื้นที่ปลอดภัยต้องประกอบไปด้วย 3 สิ่งคือ
- การเข้าใจในตัวเอง เข้าใจในตัวตน มุมมอง และเนื้อแท้ของตัวเราเอง
- การไม่ตัดสิน ไม่ให้น้ำหนักว่าสิ่งที่ทำนั้นควรค่าหรือไม่ควรค่าอย่างไรเพราะเป็นการตัดสินใจของแต่ละบุคคลซึ่งบุคคลนั้น ๆ ย่อมต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเองแล้ว และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ
- การรับฟัง เพราะหลายครั้งแล้วเรามีผู้พูดแต่ไม่มีผู้ฟัง ทั้ง ๆ ที่เราทุกคนสามารถใช้ชีวิตเป็นได้ทั้งการเป็นผู้พูดที่ดีและผู้ฟังที่ดีไปพร้อมกันได้
- ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไม่ยากในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับตัวเองด้วยตัวเราเอง แต่…
ทำไมหลายคนถึงไม่สามารถมีเซฟโซนเป็นของตัวเองได้?
เพราะสังคมของมนุษย์เราไม่ได้ประกอบขึ้นโดยมีเพียงแค่ตัวเราเองเป็นเอกเทศจากทุกสิ่ง เรามีผู้คนที่ห้อมล้อมเราตั้งแต่เกิดอย่างครอบครัว มีผู้คนที่มีมุมมองที่แตกต่างและมองเราต่างออกไปจากความเข้าใจของตัวเราเองอย่างคนในสังคมชั้นอื่น ๆ เช่น เพื่อนที่โรงเรียน คนที่มหาวิทยาลัย หัวหน้าที่ทำงาน หรือแม้แต่คนแปลกหน้าทางอินเตอร์เน็ตที่เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร
ไม่ใช่ทุกคนที่จะรับฟัง ไม่ใช่ทุกคนที่จะไม่ตัดสิน และไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจผู้อื่นหรือเขาอาจจะไม่เข้าใจแม้แต่ตัวเขาเองด้วยซ้ำ ดังนั้นแล้วปัญหาในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยมันเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจของเราแต่ละคนไม่เท่ากัน ความเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ก็มีไม่เหมือนกัน
“พื้นที่ปลอดภัย ต้องรอใครสร้างไหม หรือเราก็สามารถเป็น safe zone ได้เอง”
การแก้ไขปัญหาที่ดูเหมือนจะยากที่สุดนี้ เริ่มแรกเราอาจจะเริ่มต้นด้วยการเข้าใจในความไม่เข้าใจของพวกเขา เพราะเมื่อเราเข้าใจแล้วว่าปัญหาของเขาคือการเขาไม่เข้าใจความหลากหลาย ไม่เข้าใจว่าโลกไม่ได้มีแค่สีขาวหรือสีดำ เราก็จะไม่ได้ให้คุณค่าอะไรกับน้ำหนักของความเกลียดชังที่ตื้นเขินพวกนั้น
การโอบรับความหลากหลายของผู้คนเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม เมื่อเราเข้าใจตนเองว่าเราเป็นเราที่ตรงไหน เราต้องการอะไร และเรากำลังทำอะไร เราเข้าใจครอบครัวไม่ว่าครอบครัวจะเข้าใจเราไปในรูปแบบไหน แต่ถ้าหากสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้รุกล้ำหรือละเมิดที่เราเป็นเรา ก็ไม่น่าเป็นปัญหาแต่อย่างไรเพราะเราสามารถยอมรับตัวเองได้แล้ว ตลอดไปจนถึงสังคมที่หลายครั้งแล้วเขาไม่ได้สนใจเรามากขนาดนั้น เหมือนเวลาคุณขึ้นรถสาธารณะแล้วเจอคนแปลกหน้ามากมายแต่ถามว่าคุณสนใจคนทุกคนที่คุณเจอหรือไม่ ก็ย่อมไม่ใช่ ให้คุณค่ากับคนที่ไม่เข้าใจเราน้อยลง ให้คุณค่ากับตัวเราเองที่เข้าใจทุกอย่างที่เราเป็นมากขึ้น เมื่อนั้น พื้นที่ปลอดภัย ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง
อ่านเรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจที่นี่
ข้อมูลอ้างอิง : The Matter