เข้าใจคำศัพท์ ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+)

คำว่า LGBTQIAN+ เริ่มถูกเอ่ยถึงมากขึ้นในสังคมไทย ณ ปัจจุบัน กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นเพียงรสนิยมของคนหนึ่งคนเท่านั้น เป็นความแตกต่างที่สังคมเริ่มเปิดกว้าง และทำการยอมรับมากขึ้น เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

LGBTQIAN+ แต่ละตัวอักษรย่อมาจากอะไร?

เนื่องจากกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ สามารถแยกย่อยออกไป ได้หลายประเภท และหลายรสนิยมทางเพศด้วยกัน คำเรียก หรือคำย่อ ถูกนำมาใช้กำหนดเพื่อเรียกตัวเอง แทนเพศวิถีที่จะช่วยบ่งบอกได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น กลุ่มคนหลากหลายทางเพศอาจมีคำนิยามเกิดขึ้นใหม่ได้อีกเรื่อยๆ โดยไม่จำกัด ซึ่งอักษรย่อแต่ละตัวของ LGBTQIAN+ มีความหมาย ดังต่อไปนี้

  • L : Lesbian (เลสเบี้ยน) หมายถึง เพศหญิงที่ชอบเพศหญิงด้วยกัน
  • G : Gay (เกย์) หมายถึง เพศชายที่ชอบเพศชายด้วยกัน
  • B : Bisexual (ไบเซ็กชวล)
    • หมายถึง คนที่ชอบได้ทั้งสองเพศ ทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม โดย 23 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นว่าเป็น “วันไบเซ็กชวล” ที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญว่าการที่มีรสนิยมทางเพศแบบไบเซ็กชวลไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจหรือมีความสับสนทางเพศแต่อย่างใด
  • T : Transgender (ทรานส์เจนเดอร์)
    • หมายถึง คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิด เช่น ผู้ชายที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง หรือผู้หญิงที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชาย โดย Transgender ส่วนใหญ่มักจะเลือกปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเลือกรับฮอร์โมนเพศตรงข้าม หรือเพื่อเปลี่ยนให้ตัวเองมีรูปร่างใกล้เคียงกับเพศที่ต้องการ แม้แต่การแปลงเพศเพื่อเปลี่ยนไปเป็นเพศตรงข้ามให้ได้มากที่สุด
  • Q : Queer (เควียร์)
    • หมายถึง คนที่ไม่จำกัดว่าตนเองเป็นเพศใด และต้องชอบกับเพศใด เพราะตอนนี้ทั้งโลกไม่ได้มีแค่สองเพศ และพวกเขาไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะชอบกับใครที่เป็นเพศไหนได้เลย เนื่องจากเพศวิถีสามารถยืดหยุ่นได้ เปลี่ยนแปลงได้ตามความชอบและเหตุการณ์ของแต่ละบุคคล
  • I : Intersex (อินเตอร์เซ็กส์)
    • หมายถึง คนที่มีภาวะเพศกำกวม ระบุเพศไม่ได้ มีลักษณะไม่ตายตัว ซึ่งเป็นความหลากหลายของร่างกายตามธรรมชาติ ตามโครโมโซมที่อาจพบตั้งแต่แรกเกิด หรือพบในภายหลังที่โตขึ้น โดย 26 ตุลาคมของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นว่าเป็น “วันตระหนักรู้ภาวะเพศกำกวม” ที่มีขึ้นเพื่อส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะเพศกำกวมและคนเพศกำกวมทั่วโลกด้วย
  • A : Asexual (อะเซ็กชวล) หมายถึง คนที่ไม่รู้สึกดึงดูดทางเพศหรือเรื่องเซ็กส์ แต่ก็สามารถชอบใครได้ หรือมีความสัมพันธ์ได้ อาจแบ่งแยกย่อยออกเป็น
    • Aromantic : คนที่ไม่มีความรู้สึกรักใคร่แบบชู้สาว หรือมีความรู้สึกอยากมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว
    • Gray-sexual : คนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการไม่สนใจเรื่องเพศเลย กับการสนใจเรื่องเพศมาก
  • N : Non-Binary (นอน-ไบนารี่) หมายถึง คนที่ไม่ต้องการระบุว่าตัวเองเป็นเพศใดเลย ไม่ได้มองตัวเองว่ามีความเป็นเพศชายหรือเพศหญิง แต่อาจจะเป็นเพศชายและเพศหญิงในเวลาเดียวกัน หรือในเวลาหนึ่งรู้สึกว่าเป็นเพศชาย แต่อีกเวลาหนึ่งเป็นเพศหญิง ได้แก่
    • A-gender (เอเจนเดอร์) : คนที่ไม่นิยามตัวเองว่ามีลักษณะทางเพศแบบใดแบบหนึ่ง หรือเป็นผู้ที่มองว่าตัวเองมีเพศที่ไม่ชัดเจน
    • Bi-gender (ไบเจนเดอร์) : คนที่มองว่าตัวเองเป็นทั้งเพศหญิงและเพศชายในเวลาเดียวกัน และไม่ใช่ไบเซ็กชวล
    • Gender Fluid (เจนเดอร์ ฟลูอิด) : คนที่มีรสนิยมทางเพศลื่นไหล ไม่ตายตัว บางวันอาจคิดว่าตัวเองเป็นเพศชาย ขณะที่บางวันก็คิดว่าตัวเองเป็นเกย์ หรือผู้หญิง หรือทรานเจนเดอร์ก็ได้

นอกจากนี้ยังมี

  • S : Two-Spirit (ทูสปิริต) หมายถึง กลุ่มคนที่มีจิตใจเป็นผู้หญิงและผู้ชายในร่างเดียวกัน
  • P : Pan-sexual (แพนเซ็กชวล) หมายถึง กลุ่มคนที่มีความสนใจกับทุกเพศโดยไม่เฉพาะเจาะจง
  • D : Demi-sexual (เดมิเซ็กชวล) หมายถึง กลุ่มคนที่มีความสนใจกับเพศไหนก็ตามที่ได้ใกล้ชิดผูกพันธ์
  • C : Cis-gender (ซิสเจนเดอร์) หมายถึง กลุ่มคนที่มีเพศสภาพสอดคล้องกับเพศสรีระ
เพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศ ที่มีความหลากหลาย

ความหมายของเพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศเกี่ยวกับ LGBTQIAN+

เพศวิถี หรือ Sexuality เปรียบได้กับความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของคนๆ นั้นเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ ความต้องการทางเพศ ความรู้สึกรักใคร่ชอบพอ และดึงดูดเพศที่ชอบ อารมณ์และความปรารถนา รวมถึงความพึงพอใจทางเพศที่มีต่อคนอื่น สามารถแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะเพศวิถี ได้แก่

  • รักต่างเพศ คือ คนที่ชอบเพศตรงข้าม เช่น ผู้ชายที่ชอบผู้หญิง หรือผู้หญิงที่ชอบผู้ชาย
  • รักเพศเดียวกัน คือ คนที่ชอบเพศเดียวกัน เช่น ผู้ชายที่ชอบผู้ชาย หรือผู้หญิงที่ชอบผู้หญิง
  • Bisexual คือ คนที่ชอบได้เพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน เช่น ผู้ชายที่ชอบทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
  • ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ คือ คนที่ไม่สนใจเรื่องเพศ แต่สามารถมีความสัมพันธ์กับใครก็ได้ที่พึงพอใจ

อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) คือ การรับรู้ว่าตัวเองต้องการเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง ซึ่งบางคนอาจมีอัตลักษณ์ทางเพศที่ตรงกับโครงสร้างทางร่างกายหรือเพศกำเนิด แต่บางคนอาจมีอัตลักษณ์ทางเพศ ที่แตกต่างจากเพศกำเนิด ซึ่งจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่าคนข้ามเพศ (Transgender) โดยคนข้ามเพศ อาจเป็นผู้ที่ไม่สามารถกำหนดว่าตัวเองจะเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง เพียงเพศใดเพศหนึ่งได้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาของคำว่า LGBTQIAN+ ที่ไม่มีคำจำกัดความสิ้นสุด

การโอบรับและปฏิบัติต่อ LGBTQIAN+ อย่างเท่าเทียม

ถึงแม้ว่า ปัจจุบันกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จะได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่กับทุกคนที่จะปฏิบัติต่อ LGBTQIAN+ อย่างเท่าเทียมเช่นเพื่อนร่วมโลกคนหนึ่ง รวมไปถึงการเป็นที่ยอมรับจากสังคมรอบตัว และคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพ หรือเพศวิถีใดก็ตามเราควรให้ความเคารพ และให้กำลังใจกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ วันนี้ เราจะมาแนะนำแนวทางในการพูดคุยและปฏิบัติต่อพวกเขากันครับ

  • ไม่ตัดสินคนอื่นจากเพศวิถีที่พวกเขาเป็น หรืออ้างอิงรูปลักษณ์ภายนอก หรือเพศกำเนิด
  • ไม่ตั้งคำถามที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจส่วนบุคคล เช่น ถามว่าเป็นเพศอะไร รสนิยมทางเพศชอบแบบไหน
  • ไม่ควรเปรียบเทียบเรื่องเพศของใครกับคนอื่น เนื่องจากคนเรามีความชื่นชอบที่แตกต่างกัน
  • ให้ความสำคัญ และใส่ใจความรู้สึกของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ไม่ล้อเลียน ไม่กลั่นแกล้ง
  • คนในครอบครัวควรแสดงออกอย่างเข้าใจ และส่งเสริมสนับสนุนให้พวกเขารู้คุณค่าของตัวเอง
  • สังเกตพฤติกรรมของกลุ่มเหล่านี้ที่อยู่ใกล้ตัวหรือในครอบครัวที่มีภาวะเครียด ทำตัวแปลกแยก เข้าข่ายอาการซึมเศร้า หรือมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ผิดปกติ หรือใช้ความรุนแรงอย่างไม่เหมาะสม และช่วยเหลือพวกเขาด้วยการสื่อสารเชิงบวก พูดคุยและเปิดโอกาสให้เขาได้เล่าเรื่องราวภายในจิตใจ และหาทางแก้ปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่

กล่าวโดยสรุปคือ LGBTQIAN+ เป็นส่วนผสมที่ซับซ้อน มีความหลากหลายทั้งเพศกำเนิด เพศวิถี มาตั้งแต่การเลี้ยงดูในวัยเด็ก แนวความคิด สภาพจิตใจ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม รสนิยม เป็นต้น ในสมัยก่อนคนอาจมองว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศนี้ เป็นความผิดปกติทางจิตใจ ซึ่งจริงๆ แล้วทางการแพทย์ ไม่มีการศึกษาว่าเป็นโรคหรือความผิดปกติแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นส่วนผสมทั้งภายใน และภายนอกที่หลากหลาย ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เราควรต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับว่าบนโลกนี้ มีเพศที่หลากหลายมากกว่าแค่สังคมกำหนดไว้ว่า ตามเพศกำเนิดที่เป็นหญิงและชายเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจและเคารพในทุกเพศ ให้เกียรติอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าคุณจะได้พบกับเพศไหน หรือเห็นว่าพวกเขามีรสนิยมแบบใดก็ตามครับ

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Leave a Comment